ประวัติสาขา

finearts_banner-1

     ในสถานการณ์ปัจจุบันระบบเศรษฐกิจมีการแข่งขันกันในมิติต่างๆ อย่างเข้มข้น ผลงานจิตรกรรม หากพิจารณาในแง่ของความสัมพันธ์กับเศรษฐกิจก็จะเกี่ยวข้องในแง่ของการซื้อขายแลกเปลี่ยนภาพเขียน ซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจอยู่ไม่น้อย การจัดการเรียนการสอนสาขาจิตรกรรม จะช่วยขยายมูลค่าสินค้าโดยเกิดจากการสร้างสรรค์ของผู้เรียนที่มีคุณภาพในอนาคต

     จิตรกรรมเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารทางสังคม และวัฒนธรรม ดังนั้น จิตรกรรมจึงมีส่วนในการสะท้อนสภาพของสังคม และวัฒนธรรมนั้น ๆ และขณะเดียวกันก็เป็นสื่อในการสร้างสรรค์สังคมให้เป็นสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติ การเปิดสอนสาขาวิชาจิตรกรรมจึงมีส่วน ในการสร้างสรรค์สังคม และวัฒนธรรมให้ดีขึ้น ซึ่งเหมาะสมอย่างยิ่งกับสังคมที่มีความหลากหลายในปัจจุบัน

     เนื่องจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มีพันธกิจให้การศึกษาแก่ประชาชน  การจัดการศึกษาในสาขาวิชาจิตรกรรม จึงเป็นบทบาทหน้าที่โดยตรงที่จะพัฒนาคุณภาพทางวิชาการ ให้สอดคล้องกับบริบทของเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้วิชาการทางจิตรกรรม มีบทบาทในการพัฒนาคุณภาพชีวิตสังคม และสามารถพัฒนาท้องถิ่นในมิติทางสุนทรียะ

     หลักสูตรศิลปกรรมบัณฑิต  สาขาวิชาจิตรกรรม เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. 2556 เพื่อมุ่งพัฒนาบัณฑิตให้มีความรู้ ความเข้าใจและทักษะทางงานจิตรกรรมที่สามารถนำไปประกอบอาชีพทั้งในภาครัฐบาล  ภาคเอกชนและอาชีพอิสระด้วยมาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ที่มีการพัฒนามาตรฐานและคุณภาพการศึกษาตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ 2552 กระบวนการเรียนรู้ของหลักสูตรศิลปกรรมบัณฑิต สาขาวิชาจิตรกรรม จึงมีการปรับปรุงให้ทันสมัยและเหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อพัฒนาคุณภาพบัณฑิตให้มีคุณภาพตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ 2552 นับเป็นการพัฒนาบุคลากรทางวิชาชีพเชิงสร้างสรรค์  ซึ่งบัณฑิตสามารถนำความรู้ด้านจิตรกรรมไปสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคม ที่สามารถประกอบอาชีพได้ทั้งในระดับท้องถิ่นภาคใต้และระดับประเทศ สาขาวิชาจิตรกรรมมีส่วนช่วยพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคใต้ด้วยนวัตกรรมงานสร้างสรรค์ อีกทั้งเป็นการยกระดับงานจิตรกรรมในท้องถิ่นภาคใต้ให้เจริญก้าวหน้า  ซึ่งเป็นแรงขับให้ระบบธุรกิจชุมชนให้พัฒนายิ่งขึ้น  และรองรับแนวโน้มการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์